ประวัติของโรงเรียน

โรงเรียนบ้านเลยวังไสย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2483 มีนายเทศ บุญทะจันทร์ เป็นครูใหญ่คนแรก และนายคำตา (พิชิต) ศรีทาเป็นครูผู้สอนคนแรกโดยตั้งชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลนาวัว 3 ซึ่งได้อาศัยกุฏิวัดศรีสะอาดเป็นสถานที่เรียน (ปัจจุบันวัดศรีสะอาดได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่บนภูเขาทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน) มีนักเรียนประมาณ 30 คน มีอายุอยู่ระหว่าง 10 – 15 ปี
พ.ศ. 2486 บ้านเลยวังไสย์ได้ย้ายไปขึ้นในเขตการปกครองตำบลหนองคัน (ชื่อเดิมของตำบลหนองคัน) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนประชาบาลหนองคัน 6
พ.ศ. 2488 นายเทศ บุญทะจันทร์ลาออกจากราชการ นายคำตา (พิชิต ) ศรีทา ก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งในเขตตำบลทรายขาว
พ.ศ. 2488 นายเครื่อง ปลอดทองจันทร์ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้าน จึงเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนประชาบาลหนองคัน 6 เป็นโรงเรียนบ้านเลยวังใส (ชื่อเดิม)
พ.ศ. 2489 นายถิน รัตนภักดี ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่
พ.ศ. 2499 นายชื่น หมอยา ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ได้ไม่ถึงปีก็ย้าย ทางราชการจึงแต่งตั้งนายเจริญ ธรรมกุล มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน ในช่วงนี้นายเจริญ ธรรมกุล ได้แนะนำให้ชาวบ้านเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเลยวังใส เป็นหมู่บ้านเลยวังไสย์ เพื่อให้สอดคล้องกับความศักดิ์สิทธิ์ของวังเสื้อแดงในสมัยนั้น
พ.ศ. 2501 นายคำเพียร เป็นสุข ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่และได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างอาคารเรียนชั่วคราวเป็นหลังแรก
พ.ศ. 2504 นายสุธรรม สิงห์สถิต ได้ย้ายมาเป็นครูใหญ่
พ.ศ. 2511 นายสุรเดช นครธรรม ได้ย้ายมาเป็นครูใหญ่ อาคารชั่วคราวหลังแรกทรุดโทรมมาก และได้งบมาก่อสร้างอาคารชั่วคราวหลังใหม่ซึ่งมีความแข็งแรงกว่าเดิมมาก คือเป็นโครงไม้ หลังคามุงสังกะสี แต่ไม่มีฝา
พ.ศ. 2512 ได้งบประมาณก่อสร้างบ้านพักครูแบบกรมสามัญ หลังแรก (ปัจจุบันอยู่ในที่ดินแปลงแรกของโรงเรียน)
พ.ศ. 2513 ได้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนถาวรหลังแรก เป็นอาคารแบบ ป.1 ซ. ชั้นเดียว 2 ห้อง เป็นเงิน 70,000 บาท (อาคารหลังนี้ได้รื้อไปสร้างเป็นอาคารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอภูหลวงในปัจจุบัน) ในปีนี้นายสุรเดช นครธรรม ได้ย้ายไป และได้นายสาคร คามาดา มาเป็นครูใหญ่แทน
พ.ศ. 2520 ได้รับงบประมาณก่อสร้างบ้านพักครูแบบกรมสามัญอีก 1 หลัง (อยู่ในที่ดินแปลงเดิมเช่นกัน)
พ.ศ. 2522 นายอิสระ สุจันทร์ศรี ได้มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และทางโรงเรียนก็ได้ขยายการศึกษาภาคบังคับตามหลักสูตร พ.ศ. 2520 คือเปิดขยายชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นปีแรก และนายอิสระ สุจันทร์ศรี ไดรับคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทางราชการจึงได้แต่งตั้งนายปรเมศวร์ วรีฤทธิ์ มาเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่
พ.ศ. 2523 นายปรเมศวร์ วรีฤทธิ์ ได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านในการที่จะย้ายสถานที่โรงเรียนจากแปลงเดิมไปที่แปลงใหม่ เพราะที่เดิมมีสถานที่คับแคบมา ประกอบกับทางสถานีอนามัยก็ได้มาขอแบ่งใช้สถานที่ เพื่อก่อสร้างอาคารพร้อมบ้านพักในที่แห่งนี้ด้วย คณะครู กรรมการศึกษา ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านจึงได้มีมติพร้อมใจกัน ย้ายโรงเรียนมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ป่าสงวน และชาวบ้านได้เข้าไปแผ้วถางทำกินมาก่อน แต่ชาวบ้านก็ได้พร้อมใจกันสละที่ให้โรงเรียนเป็นเนื้อที่ตามใบบอกบริจาคทั้งหมด 91 ไร่ ดังมีรายนามผู้บริจาคดังนี้
- นายกอง แก้วเสนา จำนวน 15 ไร่
- นายไข วังคีรี จำนวน 20 ไร่
- นายรอด สายบัว จำนวน 9 ไร่
- นายทองลัด ศรีชมภู จำนวน 38 ไร่
- นายไพบูลย์ บุญทะจันทร์ จำนวน 8 ไร่
จากนั้นทางโรงเรียนก็ได้ร่วมกับชาวบ้าน ดำเนินการย้ายโรงเรียนขึ้นมายังที่โรงเรียนปัจจุบัน
โดยงบประมาณก่อสร้างโรงฝึกงานแบบองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาก่อสร้างเป็นหลังแรก เป็นเงิน 100,000 บาท
พ.ศ. 2524 นายอิสระ สุจันทร์ศรี ได้จบจากการศึกษา และได้งบก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ก. ขนาด 4 ห้องเรียน จำนวน 1 หลัง เป็นเงิน 400,000 บาท และส้วมแบบ องค์การ 1 หลัง 2 ที่ งบ ประมาณ 10,000 บาท
พ.ศ. 2525 นายอิสระ สุจันทร์ศรี ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่ที่ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดตาก ทางราชการได้แต่งตั้งนายจรูญ วรรณทะนะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่ง
พ.ศ. 2526 นายทรงศิลป์ แสนโคตร ไดรับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน
พ.ศ. 2527 ได้รับงบประมาณก่อสร้างส้วมแบบ สปช. 601/26 ขนาด 2 ที่ 1 หลังเป็นเงิน 18,000 บาท และก่อสร้างสนามฟุตบอล แบบ ฟ.1 เป็นเงิน 78,000 บาท
พ.ศ. 2528 นายสงกรานต์ ธรรมกุลได้มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และได้งบประมาณก่อสร้าง อาคารเรียน แบบ สปช.102/26 ขนาด 3 ห้องเรียน เป็นเงิน 420,000 บาท พร้อมกับเรือนเพาะชำ แบบ พ.1 เป็นเงิน 15,000 บาท (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว) และในปีนี้ ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้นายทองเสี่ยน พันสอน ให้เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งนักการภารโรงด้วย
พ.ศ. 2529 ได้รับงบประมาณ ก่อสร้างถังน้ำฝน แบบ ฝ.33 จำนวน 1 ชุด เป็นเงิน 35,000 บาท และได้เปิดขยายชั้น เด็กเล็กเป็นครั้งแรก
พ.ศ. 2530 ทางโรงเรียนได้ขอความร่วมมือจากหน่วยสร้างทางสาย หล่มเก่า- วังสะพุง ให้ปรับสนามแบบ ฟ. 1 โดยตัดดินลงไปอีก 60 เซ็นติเมตร เพื่อให้ได้สนามที่กว้างขวางขึ้น คิดเป็นเงิน 400,000 บาท และปีนี้ทาง สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอภูหลวงได้ดำเนินการรื้ออาคาร แบบ ป.1 ซ.ไปก่อสร้างอาคารสำนักงานตนเองหลังปัจจุบัน
พ.ศ. 2531 นายสงกรานต์ ธรรมกุล ได้รับคำสั่งย้ายไปที่ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอวังสะพุง
พ.ศ. 2531 นายสรวง เฮืองใสส่องมาเป็นครูใหญ่แทน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2531 จนถึงปี พ.ศ. 2548
พ.ศ. 2532 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ แบบ สปช. 202/26 เป็นเงิน 234,000 บาท แต่มีปัญหาในการรับเหมา และได้สร้างเสร็จ ในวันที่
22 มกราคม 2535 และในปีเดียวกันนี้ ทางสภาตำบลเลยวังไสย์ได้มาสร้างสระน้ำ กสช.ในที่ด้านหน้าของโรงเรียน เป็นเงิน 100,000 บาท
พ.ศ. 2533 โรงเรียนได้รับการอนุมัติเข้าเป็นโรงเรียนในโครงการ กศ.พช. และได้ดำเนินมาถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2534 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างถังน้ำฝน แบบ ฝ.30 พิเศษ 1 ชุด เป็นเงิน 6,0000 บาท ในปีนี้ทางสภาตำบลเลยวังไสย์ได้ขออนุญาตใช้ที่ของโรงเรียนแปลงเดิม จำนวนเนื้อที่ 1 ไร่ เพื่อใช้ก่อสร้างที่ทำการสภาตำบล
พ.ศ. 2535 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างถังน้ำฝน แบบ ฝ.30 พิเศษ อีก 1 ชุด เป็นเงินงบประมาณ 65,000 บาท และปีนี้ทางคณะครูได้สละทรัพย์ในการสร้างเสาธงชาติ เป็นเงิน 5,000 บาท (ปัจจุบันได้รื้อไปสร้างที่ใหม่แล้ว)
พ.ศ. 2536 ได้รับอนุมัติให้ปรับปรุงตำแหน่งจากครูใหญ่ เป็นตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ และได้เปิดขยายชั้น อนุบาล 1-2 แทนชั้นเด็กเล็กแต่นั้นมา
พ.ศ. 2537 ทางกรมธนารักษ์ โดยราชพัสดุจังหวัดเลย ได้ออกมาสำรวจที่ราชพัสดุที่โรงเรียนครอบครองดูแล ซึ่งเน้นการตรวจสอบพื้นที่ที่มีอยู่จริง ผลปรากฏว่า โรงเรียนบ้านเลยวังไสย์มีเนื้อที่ทั้งหมด 98 ไร่ คือแปลงเดิมเหลืออยู่ 7 ไร่ 2 งาน และแปลงที่โรงเรียนตั้งอยู่ปัจจุบัน คงเหลือ 91 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา จึงได้ฝังเสาหมุดคอนกรีตเป็นที่เรียบร้อย และได้งบประมาณก่อสร้างถังน้ำฝน สีเหลี่ยมของ ร.พ.ช.จำนวน 1 ถัง
พ.ศ. 2539 ทางโรงเรียนได้รับอนุมัติให้เปิดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสครองราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีนักเรียนสมัครเรียนถึง 46 คน จึงทำให้ทางโรงเรียนขาดแคลนอาคารเรียนยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทางโรงเรียนร่วมกับชาวบ้านจึงได้ร่วมกันสร้างอาคารชั่วคราว เป็นโครงไม้ หลังคามุงสังกะสี พื้นคอนกรีต ผนังเป็นอิฐฉาบปูน และไม้ระแนง จำนวน 1 หลัง 2 ห้องเนื้อที่ทั้งหมดขนาด 5x 21 เมตร (105 ตารางเมตร) เป็นเงิน 60,000 บาทโดยไม่รวมค่าแรง
พ.ศ. 2540 ทางโรงเรียนได้เปิดขยายชั้นเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีนี้ 24 คน ในปีนี้โรงเรียนได้รับงบประมาณปรับปรุงห้องให้เป็นห้องปฏิบัติการทางภาษาและห้องคอมพิวเตอร์ จึงทำให้โรงเรียนต้องประสบปัญหาการขาดแคลนอาคารเรียนมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทางโงเรียนจึงได้ร่วมกับชาวบ้าน สร้างห้องพัสดุโดยต่อเติมจากทางด้านหลังของอาคารเรียน แบบ ป. 1ก. ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารแต่อย่างใด ขนาด 4 x 15 เมตร ( 60 ตารางเมตร ) และห้องแนะแนวอีก 1 ห้อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 40,000 บาท
พ.ศ. 2541 ทางโรงเรียนได้เปิดขยายชั้นเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีนี้ 52 คน ยิ่งทำให้เกิดสภาพการขาดแคลนอาคารเรียนเพิ่มมากขึ้น ทางโรงเรียนและผู้ปกครองจึงได้ทอดผ้าป่าลูกเดือยเพื่อหาทุนสร้างห้องเรียนชั่วคราวเพิ่มขึ้นอีก 1 ห้องมีขนาด 14 x 5 เมตร เป็นเงินจำนวน 30,000 บาท โดยต่อเดิมทางด้านทิศตะวันออกของโรงฝึกงาน ต่อมาทางโรงเรียนได้รับจัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช. 105/26 9 และได้ก่อสร้างเสร็จ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2542 และไดรับจัดสรรให้สร้างส้วม แบบ สปช. 601/26 จำนวน 1 หลัง 4 ที่
พ.ศ. 2542 ทางโรงเรียนรับงบประมาณก่อสร้างสนามบาสเกตบอล ราคา 100,000 บาท และมีนักเรียน จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รุ่นแรก
พ.ศ. 2543 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณให้สร้าง ถังน้ำฝนแบบ ฝ.30 พิเศษ ราคา 72,000 บาท
พ.ศ. 2544 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างลานกีฬาเอนกประสงค์ ของการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยผ่านทางองค์การบริหารส่วนตำบลเลยวังไสย์
งบประมาณ เป็นเงิน 90,000 บาท และได้งบประมาณถมปรับสนามโรงเรียน 100,000 บาท โดย อบต.เลยวังไสย์
พ.ศ. 2548 นายธีระวุฒิ บุตรวงษ์ ได้ย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเลยวังไสย์
พ.ศ. 2562 นายธีรนาถ ธัมมนทีธนัฌชานนท์ ได้ย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเลยวังไสย์
พ.ศ. 2567 นายสุขสันต์ ยศธสาร ได้บรรจุแต่งตั้งตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเลยวังไสย์ คนปัจจุบัน
ที่ตั้งของโรงเรียนมีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ จรดกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
ทิศใต้ จรดกับหมู่บ้านเลยวังไสย์
ทิศตะวันออก จรดกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
ทิศตะวันตก จรดกับหมู่บ้านห้วยท่า
ในพื้นที่เขตบริการประกอบด้วยบ้านเลยวังไสย์หมู่ที่ 1 และบ้านห้วยท่า หมู่ที่ 6 ภาพรวมชุมชนในพื้นที่ การบริหารมีสภาพปัจจุบันปัญหา และความต้องการด้านต่าง ๆ ดังนี้ พื้นที่ของโรงเรียนและเขตบริการอยู่บน ภูเขาที่สูง ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ข้าวโพดตามฤดูกาล และเวลาว่างงาน ไปขายสลากกินแบ่งรัฐบาล อยู่ในเขตบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนตำบลเลยวังไสย์ มีแหล่งเรียนรู้ใกล้เคียง คือ ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโคกศรีเจริญ น้ำตกตาดกกทับและ น้ำตกชื่นชีวิน
โรงเรียนบ้านเลยวังไสย์ มีพื้นที่ทั้งหมด 98 ไร่ 4 งาน 40 ตารางวา